Sunday , 24 November 2024
1. ชาติภูมิ
พระเทพญาณโมลี ฉายา ปสนฺโน นามเดิม ผัน นามสกุล ทองอร่าม อายุ 80 ปี พรรษา 60 เป็นบุตรของนายแอ และนางเขียว ทองอร่าม เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2476 ณ บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
2. การศึกษา
พ.ศ. 2490 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2503 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดเลียบ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2503 สอบไล่เปรียญธรรมได้ ประโยค 1-2 จากสำนักเรียนวัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
พ.ศ. 2538 รับการถวายปริญญาโท พุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พธ.ม.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2550 รับการถวายปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
พ.ศ. 2551 รับการถวายปริญญาเอก การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ
3. อุปสมบท
วันที่ 17 เดือนมิถุนายน 2497 ณ พัทธสีมาวัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
พระอุปัชฌาย์ พระอธิการอ่อน จนฺทสุวณฺโณ วัดทุ่งหวังใน ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
พระกรรมวาจาจารย์ พระครูสุภรณ์ธรรมนิวิฏฐ์ วัดทุ่งหวังนอก ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
พระอนุสาวนาจารย์ พระอธิการอั้น ยสินฺธโร วัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
4.งานปกครอง
พ.ศ. 2505 เป็นเจ้าอาวาสวัดทรายขาว อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2539 เป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2542 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2545 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2550 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2555 เป็นเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
5. สมณศักดิ์
พ.ศ. 2510 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรม ที่ “พระใบฎีกา” ในฐานานุกรมของพระญาณโมลี (ประณีต จิตธมฺโม) รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา วัดเลียบ อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2520 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี” ในราชทินนามที่ “พระครูประภัสร์ธรรมคุณ”
พ.ศ. 2532 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท” ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2537 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ ชั้นเอก” ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2539 ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (ครองราชย์ครบ 50 ปี) ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะชั้นสามัญ” ในราชทินนามที่ “พระพิศาลพิพัฒนพิธาน”
พ.ศ. 2549 ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะชั้นราช” ในราชทินนามที่ “พระราชพิพัฒนาภรณ์”
พ.ศ. ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะชั้นเทพ” ในราชทินนามที่ “พระเทพญาณโมลี”
6. รางวัลและประกาศเกียรติคุณ
พ.ศ. 2516 ได้รับพัดรองประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาชุมชน
พ.ศ. 2532 ได้รับโล่รางวัลการประกวดวัดจังหวัดสงขลา จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. 2541 ได้รับโล่รางวัลจากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2545 ได้รับโล่รางวัลการจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนดีเด่นจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
พ.ศ. 2553 ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการระดับกาญจนเกียรติคุณ ในฐานะผู้มีผลงานทำนุบำรุงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างโดดเด่น จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2554 ได้รับโล่รางวัลผู้ให้การสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่นระดับชาติ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
7. งานการศึกษา
1. ประวัติการปฏิบัติหน้าที่ด้านการศึกษา
พ.ศ. 2509 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดอ่างทอง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2509 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการสอบบาลีสนามหลวง จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการตรวจสอบธรรมสนามหลวง
พ.ศ. 2551 – 2554 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมหาวชิราวุธ
พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน เป็นกรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนวัดทรายขาว
พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน เป็นประธานหน่วยวิทยบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย จังหวัดสงขลา
2. มีวิธีส่งเสริมการศึกษา ดังนี้
– จัดหารางวัลมอบแก่พระภิกษุ-สามเณรผู้สอบไล่นักธรรมได้เป็นประจำทุกปี
– บริจาคเงินเข้ากองทุนการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดสงขลาเป็นประจำทุกปี
– จัดหารางวัลมอบแก่พระภิกษุที่เป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน ที่นักเรียนสามารถสอบธรรมศึกษาได้จำนวนมากเป็นประจำทุกปี
– ส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรศึกษาต่อ โดยจัดหาอุบาสก-อุบสิกาเป็นผู้อุปถัมภ์ในเรื่องทุนการศึกษาต่อให้เป็นประจำทุกปี
– จัดหางบประมาณเพื่อเป็นค่ายานพาหนะแก่พระวิทยากร ที่เดินทางออกไปสอนธรรมศึกษายังศูนย์ธรรมศึกษาต่าง ๆ
– ดำเนินการเป็นธุระภาระจัดหาวัดรองรับแก่พระภิกษุ-สามเณรที่ต้องการเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างจังหวัด
– เป็นเจ้าภาพจัดหาตำราเรียน สมุด ปากกา และอุปกรณ์การเรียนเพื่อมอบแก่พระภิกษุ สามเณรที่เรียนนักธรรมในวัดเป็นประจำทุกภาคเรียน
8. งานเผยแพร่
พ.ศ. 2525 – ปัจจุบัน เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์และอำนวยความสะดวกแก่พระธรรมทูตที่ปฏิบัติงานในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซียด้วยดีตลอดมา
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน เป็นประธานดำเนินการให้การสนับสนุนและร่วมเป็นวิทยากรบรรยายธรรมในการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน การเข้าปริวาสกรรม และการเข้าค่ายอบรมคุณธรรมจริยธรรมของพระภิกษุ-สามเณร พ่อค้า ประชาชน และนักเรียน นักศึกษา ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน เป็นประธานโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนในเดือนเมษายน ซึ่งมีเยาวชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ภายในพื้นที่เข้าร่วมปีละ 300 กว่าคน เป็นประจำทุกปี
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน เป็นผู้ชักนำพุทธศาสนิกชนภายในประเทศมาเลเซีย – สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เข้ามาอุปสมบทในช่วงเข้าพรรษาภายในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา – มาเลเซีย – สิงคโปร์ – ฮ่องกง – ลาว – ศรีลังกา – ใต้หวัน – อินโดนีเซีย เป็นต้น
พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน ดำเนินการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงประเทศใกล้เคียง โดยการสร้างวัดและส่งพระภิกษุเข้าจำพรรษาเป็นประจำทุกปี เช่น วัดปิเหล็ง อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส วัดเขาแก้ว (บ้านแชะ) อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา วัดป่าแจ้งแก้ว (ทวดเสือ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วัดเกาะลังกาวี-วนาราม รัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย
9. งานสาธารณูปการ
พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน เป็นแกนนำชักชวนผู้นำท้องถิ่นและราษฏรทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมในพื้นที่บ้านทรายขาวและใกล้เคียง ระดมทุนเพื่อพัฒนาชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ จนเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่น สร้างอ่างเก็บน้ำหมู่บ้าน-สร้างประปาหมู่บ้าน-สร้างฝายน้ำล้นเพื่อการเกษตรชุมชน-สร้างอาคารเอนกประสงค์ประจำชุมชน-จัดซื้อที่ดินสร้างอนามัยประจำหมู่บ้าน-จัดซื้อที่ดินเพื่อมอบให้องค์การโทรศัพท์ในการขยายการโทรคมนาคมในตำบล-ดำเนินการขยายขอบเขตไฟฟ้าเข้าสู่วัดและมัสยิด รวมถึงหมู่บ้านทรายขาว-สร้างเมรุฌาปนกิจศพประจำหมู่บ้าน เป็นต้น
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน ดำเนินการนำที่ดินอันเป็นมรดกของตระกูล รวมถึงซื้อเพิ่มและขอรับบริจาคในบริเวณใกล้เคียงจำนวน 187 ไร่ รวมถึงหาทุนทรัพย์เพื่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร และประชาชนทั่วไปจนเป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันได้รับการยกเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมปีละหลายพันคน
พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน สร้างวัดปิเหล็ง อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส วัดเขาแก้ว (บ้านแชะ) อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา วัดป่าแจ้งแก้ว (ทวดเสือ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วัดเกาะลังกาวีวนาราม รัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนในชายแดนภาคใต้
10. งานพิเศษ
– เป็นประธานดำเนินการจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
– เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง
– เป็นคณะกรรมการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาประเทศไทย-มาเลเซีย (กส.ทม.)
– เป็นประธานดำเนินการโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดสงขลา
คุณธรรมและผลงาน
พระเทพญาณโมลี (ผัน ปสนฺโน) เป็นพระภิกษุผู้มีศีลาจารวัตรที่เรียบง่าย งดงามตามพระธรรมวินัย และดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมที่น่ายกย่อง อันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในคณะสงฆ์และพุทธบริษัท รวมทั้งศิษยานุศิษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิเช่น
1. เป็นผู้มีความกตัญญู กตเวที
พระเทพญาณโมลี เป็นพระเถระที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง ทั้งต่อบิดามารดา ผู้มีอุปการคุณ และต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากวัตรปฏิบัติของท่านในยามเยาว์วัย ได้ช่วยเหลือบิดามารดาในการประกอบอาชีพอย่างแข็งขัน เมื่ออายุครบบรรพชาอุปสมบท ได้ออกบรรพชาอุปสมบทเป็นการตอบแทนพระคุณ ตามคติที่ว่าให้บิดามารดาได้อาศัยเกาะชายผ้าเหลือง เพื่อจะได้ถึงสุคติในสัมปรายภพ
ครั้นออกบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตระหนักถึงพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงครองเพศเป็นบรรพชิตปฏิบัติธรรมตามคำสอน และได้พัฒนาตนเองจนได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมนับว่าได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อองค์พระศาสดาประการหนึ่ง
ในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระเทพญาณโมลีได้รับความร่วมมือจากทั้งพุทธศาสนิกชนและส่วนราชการเป็นอย่างดี ท่านแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สังเคราะห์อนุเคราะห์ ด้วยการร่วมมือช่วยเหลือในกิจการของประชาชน และส่วนราชการทั้งอย่างเป็นทางการและโดยส่วนตัว ผู้ใดขอความอนุเคราะห์จากท่านจึงได้รับการร่วมมือสนับสนุนเป็นอย่างดี จนกิตติศัพท์ในด้านความกตัญญูกตเวทีเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไป
2. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต
พระเทพญาณโมลี เป็นพระภิกษุผู้ดำรงมั่นในพระธรรมวินัยอย่างแน่วแน่ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ได้แก่
มีมโนสุจริต เพียรปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน เพียรชำระจิตให้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิตย์
มีกายสุจริต ปฏิบัติตามศีลาจารวัตรอย่างเคร่งครัด ไม่ยึดติดในวัตถุธรรม เช่น ในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเงิน ท่านจะให้ไวยาวัจกร และคณะกรรมการในงานนั้น ๆ เป็นผู้กำกับดูแล จนได้รับความศรัทธาและไว้วางใจจากพระเถรานุเถระ พุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั้งภายในและต่างประเทศ
มีวจีสุจริต พระเทพญาณโมลี เป็นผู้พูดน้อย การเจรจามักเป็นไปเพื่อการสั่งสอน อบรม แสดงธรรม และการสร้างสันติธรรมในหมู่ประชาชนรวมถึงศิษยานุศิษย์ ซึ่งก่อประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม อำนวยคุณแก่ทั้งศาสนจักรและอาณาจักรตลอดมา
3. เป็นผู้มีความเสียสละ
พระเทพญาณโมลี เป็นผู้ที่มีความเสียสละทั้งกำลังสติปัญญา กำลังกาย และกำลังทรัพย์ในการทำงานเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาและเพื่อยกฐานะการดำรงชีวิตของประชาชนในตำบลทุ่งหวัง ตลอดถึงประชาชนโดยทั่วไปตลอดมา
ในด้านกำลังสติปัญญา ท่านเป็นผู้มองการไกล ได้พัฒนาวัดควบคู่ไปกับการพัฒนาหมู่บ้านในตำบลทุ่งหวังจนมีเจริญ อยู่ดีกินดีมาโดยลำดับ รวมถึงการอบรมธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชน จนก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างวัด บ้าน ราชการอย่างแน่นแฟ้น
ในด้านกำลังกาย ท่านได้ลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเอง โดยเป็นผู้นำในการดำเนินการพัฒนาวัด พัฒนาชุมชนในตำบลทุ่งหวัง และการอบรมธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกาทุกอย่าง จนบรรลุผลตามเป้าหมาย
ในด้านกำลังทรัพย์ ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างของผู้เสียสละกำลังทรัพย์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้เป็นอย่างดี จากการที่ได้เสียสละทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้รับจากการปฏิบัติศาสนกิจ ทุ่มเทใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาวัดและกิจการงานของพระพุทธศาสนา และการพัฒนาชุมชนในตำบลทุ่งหวัง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือในการพัฒนาภูเขาหลง ซึ่งมีเนื้อที่ถึง 186 ไร่ 2 งาน 45.8 ตารางวา ซึ่งที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ดินมรดกของนายแอ ทองอร่าม โยมบิดาของพระเทพญาณโมลีที่ยกให้ท่านและพี่น้อง และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ซึ่งพระเทพญาณโมลีได้ดำเนินการบุกเบิกตั้งแต่ปี 2526 มาโดยลำดับ ซึ่งต่อมาคณะสงฆ์ตำบลทุ่งหวังและสภาตำบลทุ่งหวังได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา และยกขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “วัดภูเขาหลง”
นอกจากนี้ พระเทพญาณโมลียังได้สละกำลังกาย กำลังทรัพย์ในการดำรงพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นอย่างมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตลอดมา โดยการสร้างวัดและส่งพระภิกษุเข้าไปจำพรรษาขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น วัดปิเหล็ง อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส, วัดเขาแก้ว (บ้านแซะ) อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา, วัดป่าแจ้งแก้ว (ทวดเสือ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, วัดเกาะลังกาวีวนาราม รัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย ตลอดถึงเป็นแม่งานในการก่อสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพุทธมณฑลแห่งแรกของภาคใต้
4. เป็นผู้มีความเพียรและความมานะอดทน
พระเทพญาณโมลี เป็นผู้มีความเพียรและความอดทนสูงเป็นปกตินิสัย โดยท่านเชื่อว่าวัดกับบ้านต้องเกื้อกูลกัน วัดต้องพัฒนายกระดับจิตใจของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องช่วยทำนุบำรุงวัด พระพุทธศาสนาจึงจะจำเริญรุ่งเรืองสืบไป
พระเทพญาณโมลี จึงร่วมมือกับชาวบ้านเริ่มจากหมู่บ้านไทรครอบซึ่งอยู่ใกล้วัด ดำเนินการพัฒนาเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร พัฒนาถนนหนทาง และการสาธารณูปโภค โดยประสานกับแกนนำชาวบ้านทั้งแกนนำของทางราชการและแกนนำที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม จนได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุก ๆ หมู่บ้าน การพัฒนาชุมชนในทุกหมู่บ้านของตำบลทุ่งหวังโดยการนำของพระเทพญาณโมลี จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความสำเร็จที่เกิดจากความรู้รักสามัคคี พร้อมกันนั้นการพัฒนาวัดก็ดำเนินไปโดยการสนับสนุนช่วยเหลือของชาวตำบลทุ่งหวังทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลโดยไม่ขัดต่อหลักธรรมของทั้งสองศาสนา
ด้วยความเพียรและความอดทน ย่อมยังการงานให้สำเร็จผล ประชาชนในตำบลทุ่งหวังจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในการประกอบอาชีพ การศึกษาและการสาธารณูปโภค ในส่วนของวัดได้พัฒนาทั้งทางด้านศาสนาวัตถุ ศาสนาสถาน และด้านศึกษา สั่งสอน อบรม และเผยแผ่ธรรมอย่างกว้างขวาง
ด้วยความเพียรความอดทนของพระเทพญาณโมลี วัดทรายขาวและวัดภูเขาหลง ได้พัฒนาเป็นสถานที่อบรมธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร นักศึกษา นักเรียน ข้าราชการ และประชาชน แม้พุทธศาสนิกชนจากประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้เข้าบรรพชาอุปสมบทและเข้าฝึกอบรมปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานอยู่อย่างไม่ขาดสาย
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาพระพุทธศาสนา พระเทพญาณโมลีมุ่งมั่นในการอบรมสั่งสอนธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนอุบาสก อุบสิกา ส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร และนักเรียน นักศึกษาได้เรียนแผนกธรรมและแผนกธรรมศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และได้ดำเนินการส่งเสริมการศึกษา เช่น จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี ตลอดถึงพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนในการศึกษาพระปริยัติธรรม และยังได้จัดตั้งกองทุนการศึกษาสงเคราะห์ให้แก่นักเรียนโรงเรียนวัดทรายขาว เพื่อหาทุนการศึกษา และอาหารกลางวันเป็นประจำทุกปี
ความมุ่งมันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระเทพญาณโมลีได้มีการอบรมธรรมแก่พระภิกษุสามเณรทุกวันธัมมัสสวนะ และวันอุโบสถ มีการอบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนทุกวันธัมมัสสวนะ เป็นประธานจัดการปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร หน่วยงานราชการ และพุทธศาสนิกชน ทั้งที่ภูเขาหลงและนอกสถานที่ รวมถึงในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ศรีลังกา ลาว และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งชักชวนชาวต่างประเทศเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นประจำทุกปี
นอกจากนั้นใน พ.ศ. 2547 ท่านยังได้ดำเนินการสร้าง “วัดไทยลังกาวีวนาราม” ในเกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่จำนวน 12 ไร่ สำหรับเป็นสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจและเผยแผ่ธรรมในต่างแดน ซึ่งเป็นภารกิจอันยากยิ่ง ต้องใช้กำลังสติปัญญา กำลังกาย และกำลังทรัพย์ ผนวกกับความเพียรและความอดทนเป็นอย่างมาก
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาพระพุทธศาสนาและชุมชน ที่พระเทพญาณโมลี อุทิศตนดำเนินการตลอดมา ได้ยังประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร จึงแสดงถึงความเพียรและความอดทน อันควรแก่การยกย่องยึดถือเป็นแบบอย่าง
5. เป็นผู้มีความเมตตากรุณา
พระเทพญาณโมลีเป็นผู้มีเมตตากรุณาสูงเป็นปกตินิสัย ได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่พระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านในตำบลทุ่งหวังให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาโดยลำดับ ตลอดถึงอนุเคราะห์แก่บุคคลทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นที่ประจักษ์มายาวนาน
พระเทพญาณโมลีได้อุทิศทุ่มเทกายใจในการสร้างความรู้รักสามัคคีของชาวตำบลทุ่งหวังที่มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการพัฒนาชุมชน และได้ยังประโยชน์ให้เกิดแก่พระพุทธศาสนาและชุมชน ทั้งด้านสาธารณูปการ ด้านสาธารณประโยชน์ ด้านสาธารณสงเคราะห์ ด้านศึกษาสังเคราะห์อย่างมากมาย การดำเนินงานอันมากมายหลาย ๆ ด้าน เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางเช่นนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยความมีเมตตา กรุณาเป็นพื้นฐานของจิตใจอันก่อให้เกิดความเพียรและความอดทนเป็นสิ่งหนุนนำสู่ความสำเร็จ
พระภิกษุ-สามเณร พุทธศาสนิกชน และศิษยานุศิษย์ ตลอดถึงผู้ที่เดินทางมาเคารพกราบไหว้ มีเรื่องทุกข์ร้อนใด ๆ ท่านทราบเข้า มักให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง ตลอดถึงได้รับการต้อนรับปฏิสันถารอย่างเป็นกันเองด้วยความเมตตาเป็นเนืองนิตย์
6. เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง
พระเทพญาณโมลีเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงมาแต่เยาว์วัย นับแต่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ได้อกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว จนอายุครบ 21 ปี จึงได้บรรพชาอุปสมบทตอบแทนพระคุณบิดามารดา แต่ด้วยความซาบซึ้งในพระธรรมของพระศาสดา จึงได้อยู่ในเพศบรรพชิตตลอดเวลา โดยปฏิบัติหน้าที่ทุกหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ อาทิ
รับผิดชอบต่อตนเอง ในการศึกษาพระพุทธศาสนาจนได้นักธรรมชั้นเอกและสอบเปรียญธรรมประโยค 1-2 รวมถึงพัฒนาชำระจิตใจตนเองตามหลักพุทธธรรมอยู่เป็นกิจวัตร
รับผิดชอบต่อการเป็นผู้สืบทอดธำรงพระพุทธศาสนา โดยการทำหน้าที่บริหารจัดการคณะสงฆ์และพัฒนาวัด จัดสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม เป็นแม่งานก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดสงขลา ตลอดจนการสร้างวัดไทยในต่างแดน และการกำหนดแผนการจัดอบรมปฏิบัติธรรมพระกัมมัฏฐานแก่พระภิกษุ สามเณร นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไปทั้งจากจังหวัดสงขลา และจากที่อื่น ๆ รวมทั้งจากต่างประเทศ
รับผิดชอบต่อการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะภายในตำบลทุ่งหวัง โดยการทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน ประสานงานกับแกนนำของชุมชนทุกระดับ ทุกเชื้อชาติศาสนา ทำให้ตำบลทุ่งหวังสามารถพัฒนาก้าวหน้ามาโดยลำดับ
พระเทพญาณโมลีจึงเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง โดยทำงานทุกหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นที่ประจักษ์ในผลงานอย่างกว้างขวาง ทั้งแก่ศาสนจักรและอาณาจักร
7. เป็นผู้มีความเสมอต้นเสมอปลาย และมีมนุษย์สัมพันธ์
พระเทพญาณโมลี เป็นพระเถระที่มีเมตตากรุณา เสียสละ พากเพียรอดทน และซื่อสัตย์มีความรับผิดชอบสูงมาตั้งแต่เยาว์วัย ยิ่งเจริญอายุพรรษา และดำรงสมณศักดิ์สูงขึ้น ภารกิจก็ยิ่งมีมากขึ้นตามลำดับ แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติตนได้งดงามเสมอต้นเสมอปลาย เป็นพระเถระที่ผู้คนทุกชนชั้นอาชีพเข้าพบหาเพื่อเคารพกราบไหว้ และปรึกษาภารธุระได้ง่าย คงลักษณะของความเป็นกันเอง จริงใจ และใจดี พร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์สงเคราะห์กับทุกผู้คน จึงทำให้พระเถรานุเถระ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไปเคารพศรัทธา และพร้อมใจให้ความร่วมมือทั้งในการดำเนินกิจการของสงฆ์และการดำเนินงานพัฒนาชุมชนด้วยดีตลอดมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในด้านมนุษยสัมพันธ์ เมื่อมีอาคันตุกะไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเคารพกราบไหว้เยี่ยมเยียน ท่านจะทักทายปราศรัยด้วยหน้าตายิ้มแย้มและรินน้ำชาให้ด้วยตนเอง หากในยามที่มีคนมากันเป็นจำนวนมากไม่อาจรินน้ำชาให้กับทุกคน ท่านก็จะออกเดินทักทายถามไถ่ถึงการรับประทานอาหาร ซึ่งท่านจะยึดถือเป็นหลัก และย้ำทุกครั้งทุกงานว่า อาหารการกินต้องเตรียมไว้ต้อนรับแขกอย่างทั่วถึงอย่าได้ขาด
เมื่อญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา มากราบไหว้ ท่านมักจะมอบวัตถุมงคลให้ ถ้าเป็นแขกจากที่ไกล หรือแขกจากต่างประเทศ ท่านจะมอบให้มากกว่าปกติ พร้อมสั่งว่าให้เอาไปฝากคนที่ไม่ได้มา ยังความประทับใจแก่ผู้ที่มาเยือนอยู่เป็นนิจ และเป็นสิ่งดลใจให้ผู้ที่ได้รับฝาก ติดตามมากราบเยี่ยมเยียนท่านและชักชวนกันมาปฏิบัติธรรมอยู่ไม่ขาดสาย
นอกจากนั้นในการบุกเบิกพัฒนาชุมชน ท่านได้ใช้ความมีมนุษย์สัมพันธ์ประสานงานระหว่างส่วนงานราชการกับประชาชนได้เป็นอย่างดี เช่น ครั้งหนึ่งท่านได้จัดงานวันทุกเรียนขึ้น เนื่องจากในปีนั้นตำบลทุ่งหวังมีทุเรียนบ้านออกผลเป็นจำนวนมาก ท่านต้องการจะให้ส่วนราชการกับชาวบ้านมีโอกาสใกล้ชิดกัน ท่านจึงปรึกษากับชาวบ้านในการจัดสังสรรค์วันทุเรียนขึ้น โดยเชิญส่วนราชการในอำเภอเมืองสงขลาให้มาทานทุเรียนที่วัดทรายขาวได้ตลอดวัน และให้ถือติดมือกลับบ้านได้ และขอทุเรียนจากชาวบ้านสวนละ 1 หาบ ตามความสมัครใจ ปรากฏว่ามีชาวบ้านนำมาช่วยเป็นจำนวนมาก เมื่อข้าราชการในส่วนราชการมาถึงวัดก็ได้ทานทุเรียนและพูดคุยซักถามความเป็นอยู่กับแกนนำหมู่บ้านและชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ทำให้วัดทรายขาวและตำบลทุ่งหวังเป็นที่รู้จักของข้าราชการอำเภอสงขลาอย่างกว้างขวาง การพัฒนาชุมชนจึงสามารถดำเนินไปอย่างสะดวกและได้รับความร่วมมือส่งเสริมด้วยดีมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มบุกเบิก
8. เป็นผู้ที่บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม จนเป็นที่ยกย่องยอมรับอย่างกว้างขวาง
พระเทพญาณโมลีเป็นพระเถระที่มุ่งมั่น อุทิศตนทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคม จนเป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่พระเถรานุเถระ คณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ภารกิจที่ท่านทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการกระทำ ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาด้านจิตใจ
ด้วยความเชื่อที่ว่า วัดกับบ้านต้องเกื้อกูลกันเป็นหนึ่งเดียว พระเทพญาณโมลีจึงได้ดำเนินการพัฒนาพระพุทธศาสนา ควบคู่กับการพัฒนาสังคมมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เช่น
การพัฒนาพระพุทธศาสนา
พัฒนาวัดทรายขาว โดยการซื้อที่ดินขยายวัดจำนวน 1 ไร่ 2 งาน เพื่อขยายบริเวณด้านหน้าวัดให้ติดถนนเป็นแนวยาวถึง 80 เมตร สร้างอุโบสถหลังใหม่ของวัดแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมตามสภาพกาลเวลา ดำเนินการขุดบ่อบาดาล และพัฒนาระบบน้ำประปาภายในวัด สร้างกำแพงรอบวัดและซุ้มประตูวัด สร้างกุฏิรับรอง และกุฏิที่พักสงฆ์ ตลอดถึงถนนภายในบริเวณวัด รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ และเสนาสนะภายในวัดทรายขาว เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง โดยทุ่มเทแรงกาย แรงใจสร้างภูเขาอันเป็นป่ารก เนื้อที่ 182 ไร่ 2 งาน 45.8 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน และส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของนายแอ ทองอร่าม โยมบิดาของท่าน จนกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของจังหวัดสงขลา โดยพระเทพญาณโมลีได้มุมานะบากบั่นตั้งแต่เริ่มสร้างถนนขึ้นภูเขา และปรับพื้นที่สร้างสถานที่ต่าง ๆ เช่น โบสถ์ธรรมชาติ ลานหินโค้ง กุฏิรับรอง กุฏิปฏิบัติธรรม 100 กว่าหลัง วิหารประดิษฐานหลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ และอาคารปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ รองรับผู้เข้าปฏิบัติธรรมได้หลายร้อยคน รวมถึงตัดถนนในบริเวณภูเขา ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค เช่น การติดตั้งไฟฟ้า การจัดสร้างระบบน้ำประปา เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังใจอันเข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง แต่พระเทพญาณโมลีก็ได้มุมานะ บากบั่นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน
สร้างวัดปิเหล็ง อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส, สร้างวัดเขาแก้ว (บ้านแซะ) อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา, สร้างวัดปาแจ้งแก้ว (ทวดเสือ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, และสร้างวัดไทยลังกาวีวนาราม บนเกาะลังกาวี รัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย ในเนื้อที่จำนวน 12 ไร่ โดยได้ทุ่มเทพัฒนาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน พระเทพญาณโมลีได้จัดโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนในเดือนเมษายนของทุกปี ณ วัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา โดยให้ความรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และมารยาทแก่เยาวชน โดยวิทยากรที่เป็นพระภิกษุและผู้นำศาสนาในพื้นที่ มีเยาวชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมเข้ารับการอบรมปีละประมาณ 500 คน เป็นประจำทุกปี โดยใช้งบประมาณของวัดและงบประมาณส่วนตัวของท่านเอง
ปัจจุบันพระเทพญาณโมลีเป็นแม่งานหลักดำเนินการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดสงขลา บนเนื้อที่ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จำนวน 117 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจระดับจังหวัด และเป็นที่เรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในวงเงินการก่อสร้างประมาณ 600-1,000 ล้านบาท
2013-03-21
อยากร้ประวัติ สกุลทองอร่าม